ขอต้อนรับ...

เพื่อนๆเข้าสู่เว็บบล็อกของเรา โดยเว็บของเราจะให้ความรู้กับเพื่อนๆเกี่ยวระบบสารสนเทศทรัพยากรมนุษย์ และยังมีบทความต่างๆที่น่าสนใจมากมาย เชิญแวะเข้ามาชมได้นะคะ

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พ.ร.บ คอมพิวเตอร์


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550มีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตในส่วนของสิ่งต้องห้ามปฏิบัติดังนี้


1.การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (มาตรา 5) เช่น การใช้โปรแกรมสปายแวร์ขโมยข้อมูลรหัสผ่านส่วนบุคคลของผู้อื่นเพื่อใช้บุกรุกเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้นั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


2.การล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงและนำไปเปิดเผยโดยมิชอบ (มาตรา 6) เช่น การใช้โปรแกรม Keystroke แอบบันทึกการกดรหัสผ่านของผู้อื่นแล้วนำไปโพสต์ในเว็บบอร์ดต่างๆเพื่อให้บุคคลที่สามใช้เป็นรหัสผ่านเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ที่เป็นเหยื่อ โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


3.การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (มาตรา 7) เช่น การกระทำใดๆเพื่อเข้าถึงแฟ้มข้อมูลที่เป็นความลับโดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยการแอบเจาะเข้าระบบรักษาความปลอดภัย (hack) ไปล้วงข้อมูลของเขาโดยเขาไม่อนุญาต โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


4.การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (มาตรา 8) หรือ การดักรับข้อมูลของผู้อื่นในระหว่างการส่ง เช่น การใช้โปรแกรมสนิฟเฟอร์แอบดักชุดข้อมูลที่อยู่ระหว่างการส่งไปให้ผู้รับ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


5.การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (มาตรา 9 และ 10) เช่น การแอบส่งไวรัส หนอนอินเตอร์เน็ต หรือโทรจัน เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น จนทำให้ข้อมูลหรือระบบของเขาเสียหาย โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


6.การส่งสแปมเมล์ (spam) หรืออีเมล์ขยะ (มาตรา 11) ความผิดตามข้อมูลนี้เพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อให้ครอบคลุมถึงการส่งสแปมเมล์ ซึ่งเป็นลักษณะการกระทำความผิดที่ใกล้เคียงกับมาตรา 10 และยังเป็นการทำความผิดโดยการใช้โปรแกรมหรือข้อความส่งไปให้เหยื่อจำนวนมากๆโดยปกปิดแหล่งที่มา เช่น ไอพีแอดเดรส (IP address) ซึ่งมักก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้คอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น การโฆษณาขายสินค้าทางอีเมล์ ที่ชอบส่งซ้ำๆจนทำให้เขาเบื่อหน่ายรำคาญ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท


7.การกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ (มาตรา 12) การรบกวนหรือเจาะระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและการบริการสาธารณะ มีโทษหนักจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท


8.การจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อใช้กระทำความผิด (มาตรา 13) เช่น การสร้างซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้ผู้ใดทำเรื่องที่เป็นความผิดในข้อข้างต้น โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


9.การปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและการรับผิดของผู้ให้บริการ (มาตรา 14 และมาตรา 15) สองมาตรานี้เป็นลักษณะที่เกิดจากการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จหรือมีเนื้อหาไม่เหมาะสมในรูปแบบต่างๆ โดยมาตราที่ 14 กำหนดครอบคลุมถึงการปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือสร้างข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือเป็นข้อมูลที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือก่อการร้าย รวมทั้งข้อมูลลามกอนาจาร และส่งต่อข้อมูลที่เป็นความผิดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น การส่งภาพโป๊เปลือย ลามก หรือข้อความไม่เหมาะสมที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือข้อความที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หรือข้อความใส่ร้าย กล่าวหาผู้อื่น ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การโพสต์ทางกระดานสนทนาและบล็อกต่างๆ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของมาตราที่ 15 มีการกำหนดโทษของผู้ให้บริการซึ่งหมายถึงบริษัทที่ยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวข้างต้นต้องรับโทษด้วยเช่นกันหากไม่ระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว


10.การเผยแพร่ภาพจากการตัดต่อหรือดัดแปลงให้ผู้อื่นถูกดูหมิ่น หรืออับอาย (มาตรา 16) เป็นการกำหนดฐานความผิดในเรื่องของการตัดต่อภาพของบุคคลอื่นที่อาจทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังหรือได้รับความอับอาย โทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ความผิดตามมาตรานี้เหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทคือ ยอมความกันได้


11.การกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษในราชอาณาจักร ข้อนี้เกี่ยวกับการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หากมีการทำความผิดนอกประเทศ แต่ความเสียหายเกิดขึ้นในประเทศ หรือแม้ความเสียหายเกิดนอกประเทศ แต่ผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย ถ้ามีผู้เสียหายร้องขอให้ลงโทษก็สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้และจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2550